บันทึกประวัติและการเดินทางตลอด 25 ปี ของศูนย์พระจิตเจ้า แม่สรวย
 
ท่ามกลางกลุ่มคริสตชนชาติพันธุ์ลาหู่ ซึ่งอพยพจากประเทศพม่ามาอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ คุณพ่อโจวันนี ซิมบัลดี มิชชันนารีผู้บุกเบิกงานแพร่ธรรมของคณะปีเม1 ในภาคเหนือของประเทศไทย ได้เฝ้าติดตามดูแลมาอย่างต่อเนื่องนับแต่อยู่ในประเทศพม่า จนกระทั่งมาเปิดศูนย์คาทอลิกพระคริสต์แสดงองค์ ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2517/ ค.ศ.1974 กลุ่มคริสตชนเหล่านี้จำนวน 16 ครอบครัว ได้กระจัดกระจายมาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านห้วยขี้เหล็ก อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย2

และได้พยายามติดตามหานายชุมพาบาล เพื่อช่วยดูแลด้านความเชื่อ พิธีกรรมและชีวิตความเป็นอยู่ ในช่วงเวลาเริ่มแรก เมื่อปี พ.ศ. 2524 / ค.ศ. 1981 นั้น การเดินทางจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มายังอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายนั้น ยังไม่ได้มีถนนตัดผ่านมาทางอำเภอแม่สรวย อย่างทุกวันนี้ จึงต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงย้อนไปทางเชียงใหม่และต้องอาศัยการเดินเท้าต่ออีกเพื่อสามารถไปถึงหมู่บ้านต่าง ๆ บนดอยได้ แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำหรับคุณพ่อซิมบัลดี !!
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคริสตชนและผู้สนใจใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ และอาข่า จึงได้มีการแยกงานอภิบาลในเขตแม่สรวยออกจากเขตฝาง เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2533/ ค.ศ. 1990 ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นงานแพร่ธรรมในเขตแม่สรวย ในนามของ “ศูนย์คาทอลิกพระจิตเจ้า”

ในครั้งนั้น คุณพ่ออันโตนีโอ ซานโตโร และคุณพ่อโกราโด ชิเชรี ได้รับมอบหมายให้มาช่วยกันเปิดศูนย์แพร่ธรรมแห่งใหม่นี้ แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2535/ ค.ศ. 1992 คุณพ่อซานโตโร ได้กลับไปทำงานที่ประเทศอิตาลี คุณพ่อโกราโด จึงได้รับผิดชอบศูนย์ใหม่นี้ต่อตามลำพัง จนกระทั่งเดือนกันยายน พ.ศ. 2536/ ค.ศ. 1993 คุณพ่ออีโว คาวาญา ก็ได้มาร่วมงานที่ศูนย์แม่สรวยนี้ จนถึงปี พ.ศ. 2540/ ค.ศ. 1997

ด้วยความร้อนรนที่ “ต้องการจะพูดกับใจของคนด้วยคำพูดที่เรียบง่ายและเที่ยงแท้เพื่อให้เขาตื่นตัวในความรักของพระเจ้า” ซึ่งคุณพ่อโกราโดถือเป็นพันธกิจในงานธรรมฑูตของท่าน ดังที่คุณพ่อได้บันทึกไว้ก่อนมาประเทศไทย ได้ทำให้การเริ่มต้นงานที่ศูนย์แม่สรวยของคุณพ่อเต็มไปด้วยชีวิตชีวา
   
ตั้งแต่การพบปะชาวบ้านหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งอาข่า ลาหู่ ลีซูในหมู่บ้านบนดอยสูง การเริ่มต้นโครงการช่วยเหลือต่างๆ อาทิการศึกษาเด็กและเยาวชน การช่วยชาวบ้านที่มีความต้องการเร่งด่วน ทั้งด้านสาธารณูปโภคชุมชน เศรษฐกิจ และสุขภาพอนามัย

โดยท่านได้เริ่มวางรากฐานแนวคิดการช่วยเหลือโดยให้เขาและเธอรู้จักรับผิดชอบตนเองอย่างมีศักดิ์ศรีไว้ตั้งแต่เริ่มต้น คุณพ่อโกราโด ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าศูนย์พระจิตเจ้าแห่งนี้มีจุดประสงค์เพื่อการอภิบาลและเป็นวัดด้วย ดังนั้นจึงมิได้เป็นเพียงศูนย์เพื่อการพัฒนาหรือเพื่อค้ำจุนกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เป็นศูนย์อภิบาลเพื่อการอบรมและการเผยแผ่ความเชื่อแบบคาทอลิก

ทั้งผู้คน และกิจการภายนอกต่าง ๆ รวมถึงแนวคิดที่คุณพ่อโกราโดได้ปลูกรากไว้นี้ ได้รับการสานต่ออย่างแข็งขันจาก คุณพ่อเมาริสซิโอ อารีออลดี ผู้ซึ่งมาสานต่องานและชีวิตจากคุณพ่อโกราโด อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2540/ ค.ศ. 1997 และได้ถูกทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นตลอดระยะเวลา 13 ปีที่คุณพ่ออยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระจิตเจ้าแห่งนี้
 
โดยมีคุณพ่อคลาวดีโอ กอร์ตี มาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสในช่วงปี พ.ศ. 2544 - 2547 / ค.ศ. 2001 - 2004 และต่อมา คุณพ่อโจวันนี ซิมบัลดี ได้มาช่วยงานอภิบาลในระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2552/ ค.ศ. 2006 - 2009

หากการเริ่มต้นงานแพร่ธรรมในเขตแม่สรวย เป็นดังที่คุณพ่อโกราโดได้กล่าวไว้ในจดหมายช่วงปี พ.ศ. 2536/ ค.ศ. 1993 ว่าเป็นดั่งการนำทางในเมฆหมอกเพื่อเดินเคียงข้างไปกับชาวบ้านที่กำลังพบมรสุมหนัก เนื่องจากชีวิตบนดอยกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากตามกระแส “การพัฒนา” วัตถุนิยมในขณะนั้นแล้ว การสานต่องานของคุณพ่อเมาริสซิโอในช่วงทศวรรษต่อมา คงเปรียบได้กับการทำงานท่ามกลางมรสุมหลายลูกที่ซัดกระหน่ำ และบางครั้งต้องคอยกอบกู้ซากปรักหักพังที่มรสุมนั้นทิ้งไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็นมรสุมยาเสพติด มรสุมทุนนิยม บริโภคนิยม ที่ล้วนกวาดต้อนชีวิตผู้คนให้สูญเสียไปทั้งสิ้น

ในสถานการณ์เช่นนี้คุณพ่อได้ยืนหยัดต่อสู้ด้วยการทำให้งานแพร่ธรรมเข้มข้นยิ่งขึ้นและเข้าถึงผู้คนในรูปแบบใหม่ ๆ ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ ที่ได้จัดให้มีโครงการฝึกอบรมผู้ใหญ่ที่สนใจชีวิตคริสตชนคาทอลิก (Catechumenal Program) หรืองานคำสอนเด็กและเยาวชนจากหมู่บ้านที่ลงมารับการอบรมต่อเนื่องที่ศูนย์พระจิตเจ้า เป็นต้น พร้อม ๆ กับการทำให้โครงการช่วยเหลือด้านชีวิตภายนอกที่มีอยู่ ตอบสนองกับปัญหาและความเป็นจริงของชาวบ้านมากขึ้น ที่สำคัญยังได้วางรากฐานให้กิจการภายนอกเหล่านี้มั่นคงและชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งต่อหน้าชาวบ้าน ข้าราชการและผู้คนทั่วไป ในรูปของนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
 
“มูลนิธิดวงใจพ่อ” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นตามกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2551/ ค.ศ. 2008 เพื่อสานต่องานด้านการศึกษาและสังคมที่ได้เริ่มต้นไว้ในเขตวัดพระจิตเจ้า แม่สรวย เคียงคู่กับศูนย์คาทอลิกพระจิตเจ้า ที่ยังคงดำเนินงานด้านศาสนาต่อเนื่องต่อไป และกิจการทั้งหมดนี้ก็ได้ถูกส่งมอบต่อให้คุณพ่อราฟฟาแอล ปาเวซี เจ้าอาวาสคนปัจจุบันรับผิดชอบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553/ ค.ศ. 2010 และในปลายปี พ.ศ. 2554/ ค.ศ. 2011 คุณพ่อวาเลรีโอ ซาล่า ก็ได้มาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอยู่จนถึงปัจจุบัน

พันธกิจทั้งหมดที่คุณพ่อราฟฟาแอลได้รับผิดชอบอยู่จนกระทั่งถึงช่วงเวลาก้าวสู่ปีที่ 25 นี้ ทั้งในงานแพร่ธรรมโดยตรง อันได้แก่ การต่อเนื่องการขึ้นหมู่บ้านทั้ง 29 หมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอเพื่อพบปะและประกอบพิธีกรรมให้ชาวบ้านสัตบุรุษ3 หรืองานสอนคำสอนผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนจากหมู่บ้านที่ลงมารับการอบรมอย่างต่อเนื่องที่ศูนย์พระจิตเจ้า ตลอดจนถึงในงานด้านการศึกษาและสังคมภายใต้มูลนิธิดวงใจพ่อ อันได้แก่งานอบรมภายในศูนย์อบรมเด็กและเยาวชน ที่มีถึง 3 แห่งในเขตแม่สรวย ซึ่งปัจจุบันได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นสถานสงเคราะห์ตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว 1 แห่ง คือ สถานสงเคราะห์เด็กบ้านพักพระจิตเจ้า และที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 2 แห่ง
 
 
พร้อมกับงานสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ที่อยู่ในหมู่บ้านบนดอย เขตวัดพระจิตเจ้า แม่สรวย ด้านอื่น ๆ ที่คุณพ่อได้ให้ความช่วยเหลือ อันได้แก่ งานด้านการศึกษานอกระบบของชาวบ้าน การให้ทุนการศึกษาต่อเนื่องแก่เยาวชน หรือการจัดรถรับส่งนักเรียนเพื่อสนับสนุนการศึกษาในท้องถิ่นของเด็กและเยาวชน ตลอดจนถึงการให้ความช่วยเหลือชาวบ้านกรณีเดือดร้อนฉุกเฉินต่าง ๆ การให้ความรู้และความช่วยเหลือสตรีและเด็กพิการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

การช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัยแก่ชาวบ้านและผู้ติดยาเสพติด การช่วยเหลือด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมแนวคิดด้านการทำเกษตรชีวภาพ พร้อมทั้งความร่วมมือกับคณะซิสเตอร์คามิลเลียนในงานดูแลผู้ป่วย และผู้สูงอายุ สำหรับชาวบ้านในเขตพื้นราบ ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 / ค.ศ. 1999
 

กิจการเหล่านี้ทั้งสิ้นเป็นหนทางในการเดินเคียงข้างชาวบ้านและช่วยเหลือพวกเขาและเธอที่มีความเดือดร้อนจำเป็นในชีวิต อันเป็นสิ่งที่องค์พระจิตเจ้าได้ทำงานผ่านคณะผู้ร่วมงานของศูนย์พระจิตเจ้า ทั้งพระสงฆ์ นักบวช ฆราวาสอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

จากวันนี้และต่อไปในอนาคต พันธกิจภายใต้การทรงนำขององค์พระจิตเจ้าเหล่านี้ ที่จะได้รับการส่งมอบต่อให้ คุณพ่อวาเลรีโอ ซาล่า เจ้าอาวาสวัดพระจิตเจ้าคนใหม่ ซึ่งแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์สังคมปัจจุบัน ที่ท้าทายความจำเป็นในการเข้าใจถึงความหมายของความเชื่ออย่างลึกซึ้งในชีวิตของชาวบ้านอย่างมากก็ตาม แต่ความหวังในองค์พระจิตเจ้าที่อยู่ท่ามกลางพวกเราทุกคนที่นี่ จะคอยช่วยส่องนำเราให้มองเห็นหนทาง ที่จะก้าวเดินไปด้วยกันทีละก้าวอย่างมั่นคงต่อไป

 
 
 
 
______________________________
1 คณะปีเม ( PIME) เป็นคณะสงฆ์พื้นเมืองจากประเทศอิตาลี ที่ทำงานธรรมฑูตเพื่อออกไปช่วยงานพระศาสนจักรท้องถิ่น ในปี พ.ศ.2515/ ค.ศ. 1972 ด้วยคำเชิญของพระสังฆราชลูเซียน ลากอสต์ แห่งสังฆมณฑลเชียงใหม่ พระสงฆ์คณะปีเมรุ่นแรก 3 ท่าน รวมทั้งคุณพ่อโจวันนี ซิมบัลดี จึงได้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันมีสมาชิกเข้ามาร่วมงานทั้งในสังฆมณฑลเชียงใหม่และอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ จำนวนทั้งสิ้น 12 องค์ โดยมีคุณพ่อเมาริสซิโอ อารีออลดี เป็นอธิการเจ้าคณะแขวงคนปัจจุบัน
 
2 รายละเอียดของการเริ่มต้นกลุ่มคริสตชนในเขตวัดพระจิตเจ้า แม่สรวย ติดตามอ่านได้ในบทสัมภาษณ์คุณพ่อโจวันนี ซิมบัลดี
 
3 ปัจจุบันวัดพระจิตเจ้ารับผิดชอบงานอภิบาลสัตบุรุษในเขตแม่สรวย จำนวน 29 หมู่บ้าน ประกอบด้วย 878 ครอบครัว มีคริสตชนทั้งสิ้น 5,176 คน ในจำนวนนี้ มีคริสตชนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วจำนวน 1,816 คน ที่เหลือเป็นผู้สนใจที่กำลังเรียนรู้จักชีวิตคริสตชนมากขึ้น
 
 
 
 
มูลนิธิดวงใจพ่อ องค์การสาธารณกุศล ลำดับที่ 902 อ.แม่สรวย จ.เชียงราย โทร. 053-656-257
มูลนิธิดวงใจพ่อ จำนวนผู้เยี่ยมชม 189620 คน | ออนไลน์ขณะนี้ 3 คน
องค์การสาธารณกุศล ลำดับที่ 902
เลขที่ 47 หมู่ 17 บ้านขัวแคร่ ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 57100
โทรศัพท์ 087-181-5174    E-mail : sarinkit@gmail.com
Copyright © 2011-2017 มูลนิธิดวงใจพ่อ. All Rights Reserved. Design by Chiangrai Enter Soft.