|
คณะปีเม
ครอบครัวของคุณพ่อโกราโด |
|
โดย คุณพ่อลีวีโอ มัจจิ
อดีตเจ้าคณะแขวงคณะปีเมแห่งประเทศไทย
|
|
ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนร่วมอาศัยคำนำโดยสังเขปของหนังสือนี้
ซึ่งรวบรวมงานบันทึกเกี่ยวกับชีวิตและงานของคุณพ่อโกราโด ชิเชรี
โดยนำเสนอเรื่องราวของ “ครอบครัว” ที่ได้ให้การอบรมแก่ท่าน
ได้ต้อนรับและส่งท่านมาในประเทศไทย นั่นก็คือ คณะปีเม กล่าวกันว่า
เราจะรู้จักใครคนหนึ่งให้ดีลึกซึ้งไม่ได้ถ้าไม่รู้จักครอบครัวของเขา
และนี่คือแรงจูงใจที่ผลักดันให้ผมเล่าเรื่องย่อๆ
ของการผจญภัยด้านงานแพร่ธรรมของธรรมทูตคณะหนึ่งที่มีอายุยาวนานถึง 156 ปี
มีสมาชิกมากมายซึ่งถูกเผาผลาญด้วยความรักต่อพระคริสต์
ได้ร่วมงานการเผยแผ่พระอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้
ด้วยการมอบอุทิศชีวิตของตนทั้งครบเพื่อจุดประสงค์ของงานนี้ |
|
คณะปีเม (PIME) เป็นคณะสงฆ์ธรรมทูตพื้นเมืองและภราดา
(ฆราวาสที่อุทิศตัวเพื่องานแพร่ธรรม) ชาวอิตาเลียนที่ทำงานธรรมทูต
เพื่อออกไปช่วยงานพระศาสนจักรท้องถิ่น (P.I.M.E. ย่อมาจากภาษาลาตินว่า Pontificium
Institutum Missionum Exterarum ภาษาอังกฤษคือ Pontifical Institute for Foreign
Missions) ตั้งขึ้นวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2393/ค.ศ. 1850 ที่เมืองมิลาน
ประเทศอิตาลี โดยพระสังฆราชอันเจโล รามาซอทตี โดยความเห็นชอบจากสมเด็จพระสันตะปาปา
ปีโอ ที่ 9 และบรรดาพระสังฆราชแคว้นลอมบาร์เดีย ทางภาคเหนือของประเทศอิตาลี |
|
จุดประสงค์ของการตั้งคณะ
เพื่อเผยแผ่คริสตศาสนาในหมู่คนที่ยังไม่รู้จัก โดยการสอนคำสอนและโปรดศีลล้างบาป
และสร้างสถาบันต่างๆ ในท้องถิ่น เช่น วัด โรงเรียน บ้านเณร โรงพยาบาล สถานฝึกอบรม
เพื่อสนับสนุนให้พระศาสนจักรท้องถิ่นเติบโตขึ้นในทุกด้าน
เมื่อกลุ่มคริสตชนใดที่สมาชิกคณะเข้าไปเผยแผ่พระวรสารสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มคริสตชนได้แล้ว
คณะจะมอบให้พระศาสนจักรท้องถิ่นดำเนินงานต่อ
ส่วนสมาชิกของคณะจะย้ายไปสถานที่แห่งใหม่ต่อไป
ที่ผ่านมาคณะได้มอบให้พระสงฆ์ท้องถิ่นเข้าดำเนินงานต่อ กว่า 20 แห่งแล้ว |
|
ประวัติศาสตร์การทำงานธรรมทูตของคณะ
มีพระสงฆ์กลุ่มแรกของคณะเดินทางประกาศพระวรสารยังหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะไม่ได้รับการต้อนรับ โดยเฉพาะหลังจากคุณพ่อยอห์น
มัซซุโกนี สมาชิกคนหนึ่งถูกฆ่า สมาชิกทั้งหมดจึงต้องถอนตัว (ต่อมาคุณพ่อยอห์น
มัซซุโกนี ได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศีองค์แรกของคณะ เมื่อปี พ.ศ. 2527/ค.ศ. 1984
โดยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2) แต่อุปสรรคที่กลุ่มแรกประสบ
ไม่ได้ทำให้คณะเลิกล้มความตั้งใจที่จะประกาศพระวรสาร ตรงกันข้าม
กลับเพิ่มความเพียรพยายามให้กับคณะมากขึ้น มีสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
มีพระสงฆ์กลุ่มใหม่ออกไปทั่วโลกทุกปี เพื่อประกาศพระวรสารอีก |
|
ในเวลา 156 ปี กับบุคลากรแพร่ธรรมจำนวนจำกัด
(พระสงฆ์และฆราวาสผู้อุทิศตัว) ที่ไม่เคยมีจำนวนเกิน 700 คน (ปัจจุบันมี 550 คน)
คณะปีเมได้ก่อตั้ง 40 สังฆมณฑล เฉพาะในทวีปเอเชีย และรวมไปถึงทวีปอื่นๆ ด้วย
นอกจากในประเทศอิตาลีแล้ว ปัจจุบันคณะยังทำงานอยู่ในอีก 16 ประเทศ ในแถบโอเชียเนีย
อเมริกา อัฟริกา และเอเชีย คือ อินเดีย จีน (ฮ่องกง) ญี่ปุ่น พม่า บังคลาเทศ บราซิล
กีนี คาเมรูน ไอเวรี่โคท และเขมร หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ไทย สหรัฐอเมริกา
เม็กซิโก ฟิลิปปินส์และอัลจีเรีย เป็นการผจญภัยที่น่าดึงดูดทั้งในความเชื่อ
ในงานแพร่ธรรม และในชีวิตที่อุทิศเพื่อนอบน้อมต่อคำสั่งของพระเยซูที่ว่า
“ท่านทั้งหลาย จงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา” (มธ 28:18) |
|
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 150 ปี
คณะปีเมได้มอบสมาชิกให้แก่พระศาสนจักรเพื่อช่วยในงานแพร่ธรรมกว่า 1,700 คน
ในจำนวนดังกล่าว 18 คนได้ถูกฆ่าเป็นมรณสักขี 1
องค์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักบุญ คือ อัลเบรีโก เครสชิเตลลี
มรณสักขีที่ประเทศจีน (พ.ศ. 2406-2443/ค.ศ. 1863-1900) บุญราศี 2 องค์ คือ
ยอห์น มัซซุโกนี มรณสักขีในแถบโอเชียเนีย (พ.ศ. 2398-2469/ค.ศ. 1855-1926)
และ เปาโล มานนา (พ.ศ. 2415-2495/ค.ศ. 1872-1952) |
|
ในช่วงเวลา 50 ปีสุดท้ายนี้ พระศาสนจักรรุ่นใหม่
(คือพระศาสนจักรที่เกิดในเขตมิสซังในระยะหลัง) มีวุฒิภาวะมากขึ้น
มีกระแสเรียกมากกว่าพระศาสนจักรดั้งเดิมและกลับกลายเป็นผู้แพร่ธรรมเอง พระสันตะปาปา
ยอห์น ปอล ที่ 2 ในพระสมณสาส์น “พันธกิจพระผู้ไถ่”
ทรงย้ำเตือนพระศาสนจักรรุ่นใหม่หลายครั้ง ตรัสว่า “ปัจจุบันนี้
พวกท่านคือความหวังของพระศาสนจักรของเราที่มีอายุสองพันปีแล้ว
เพราะพวกท่านมีความเชื่อที่เยาว์วัย ต้องเป็นเช่นบรรดาคริสตชนสมัยแรกเริ่ม
และแพร่กระจายความมีชีวิตชีวาและความกล้าหาญ” (ข้อ 90) |
|
ปัจจุบัน คณะธรรมทูตต่างๆ
ล้วนได้รับแรงกระตุ้นให้เปิดรับผู้สมัครเป็นธรรมทูตจากดินแดนแพร่ธรรม
ดำเนินงานการอบรมและส่งพวกเขาไป
ซึ่งบ่อยครั้งพระศาสนจักรดังกล่าวเองมีบุคลากรไม่เพียงพอสำหรับงานอภิบาลดูแลคริสตชน
แต่ก็สำนึกถึงความจริงที่พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ตรัสไว้ใน
“พันธกิจพระผู้ไถ่” (ข้อ 2) ว่า
“ความเชื่อจะเข้มแข็งขึ้นได้ด้วยการมอบความเชื่อนั้นแก่ผู้อื่น!” นอกนั้น
คณะธรรมทูตยังมุ่งสร้างบรรดาคริสตชนให้กลับกลายเป็นผู้แพร่ธรรม
เหตุนี้จึงเห็นความจำเป็นของคณะธรรมทูตต่างๆ
ในการปลูกฝังจิตตารมณ์แห่งการแพร่ธรรมในพระศาสนจักรรุ่นใหม่นี้ |
|
คณะปีเมได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยสร้างสรรค์พระศาสนจักรรุ่นใหม่และเพื่อทำให้กลายเป็นผู้แพร่ธรรมด้วย
คณะได้ทำงานในพระศาสนจักรรุ่นใหม่เหล่านั้นด้วยการรับใช้ในงานอภิบาลที่ได้รับมอบหมายจากพระสังฆราช
และเพื่อทำให้พระศาสนจักรเหล่านั้นหันไปสู่ “การแพร่ธรรมแก่คนต่างศาสนา”
โดยเฉพาะการใช้แบบอย่างในการทำงานกับคนยากจนขัดสน ผู้อยู่ชายขอบ ผู้อยู่ท้ายแถว
คณะปีเมมีเป้าหมายหนึ่งเดียวคือการแพร่ธรรมในท่ามกลางผู้ที่ยังไม่รู้จักพระเจ้า
และสำนึกถึงความรับผิดชอบยิ่งขึ้นในการร่วมมือทำงาน
เพื่อให้สำเร็จตามความมุ่งมั่นของพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่ 3 ว่า
ต้องให้ประชากรของพระเจ้ากลายเป็นผู้แพร่ธรรม
หัวข้อใหญ่ของการประชุมตัวแทนของพระศาสนจักรเอเชีย ครั้งที่ 1 ที่เชียงใหม่
ระหว่างวันที่ 19-22 ต.ค. พ.ศ. 2549/ค.ศ. 2006 เรื่องการแพร่ธรรม
แสดงให้เห็นอย่างดีถึงความหมายของการเป็นผู้แพร่ธรรมและโดยรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักรประเทศไทยในการตระหนักถึงหน้าที่ของการเป็นคริสตชนในสหัสวรรษที่
3 คือ “การเล่าเรื่องของพระเยซูแก่ชนชาวเอเชีย!”
เรามีความมั่นใจว่า ทวีปเอเชีย ประเทศไทย
มีความต้องการองค์พระเยซูและสาส์นแห่งความรอดของพระองค์
พวกเราเหล่าธรรมทูตเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพระองค์ด้วยความเรียบง่าย
|
|
ในปี พ.ศ. 2515/ค.ศ. 1972 ด้วยคำเชิญของพระสังฆราชลูเซียน ลากอสต์
แห่งสังฆมณฑลเชียงใหม่ พระสงฆ์คณะปีเมรุ่นแรกจึงได้เดินทางเข้ามาประเทศไทย
และในปีต่อๆ มามีสมาชิกของคณะเดินทางเข้ามาช่วยงานทั้งในสังฆมณฑลเชียงใหม่
และอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ปัจจุบันมีสมาชิกทำงานในประเทศไทย 13 คน เป็นพระสงฆ์ 12
องค์ และภราดา 1 องค์ |
|
หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องราวของสมาชิกคนหนึ่งของคณะปีเมที่ได้สิ้นชีวิตในประเทศไทย
คือคุณพ่อโกราโด ชิเชรี
ประวัติงานแพร่ธรรมของท่านเป็นเรื่องที่รวมเข้าอยู่ในประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และยาวนานของธรรมประเพณีแห่งความซื่อสัตย์ต่องานแพร่ธรรม
และการรับใช้ปวงชน ด้วยคำว่า “ครับ”
ที่พร้อมเสมอและด้วยใจกว้างต่อการเรียกของพระเจ้า จนถึงกับยอมมอบชีวิตเพื่อพระองค์
เพื่อพระศาสนจักรไทย และเพื่อชาวแม่สรวยที่รักของท่าน
งานเขียนและความศรัทธาร้อนรนต่องานแพร่ธรรมของท่านนี้
จะเป็นแรงกระตุ้นให้สมาชิกของคณะปีเมสานต่องานการประกาศพระวรสารต่อไป
และเราหวังว่าจะสามารถนำประโยชน์ให้แก่พระศาสนจักรไทยทั้งครบ
เพื่อการไตร่ตรองถึงเอกลักษณ์ของพระศาสนจักรที่เป็นผู้ถูกส่งไปให้เป็นธรรมทูต |
|
สุดท้ายนี้ ผมขอโมทนาคุณพระเจ้าสำหรับพระทัยดีของพระองค์
และสำหรับสิ่งยิ่งใหญ่ที่ได้ทรงกระทำ และยังทรงทำต่อไปในพวกเราสมาชิกคณะปีเมแต่ละคน
แม้จะมีขอบเขตจำกัดก็ตาม กล่าวคือ ด้วยจำนวนน้อยและเป็นคนขัดสน
ทว่ามีความร้อนรนอันใหญ่ยิ่งที่จะทำงานด้วยจิตตารมณ์แห่งการแพร่ธรรม
ดังพระวาจาของพระเยซูเจ้าที่ว่า “เราได้นำไฟเข้ามาในโลกนี้
และเราปรารถนาจะให้ไฟนี้ลุกโชนขึ้น!” (ลก 12: 49)
ขอขอบพระคุณพระเจ้าเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเพื่อนสมาชิกของเราสองคนที่ได้ทำงานในประเทศไทยและได้ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
ผู้ได้อุทิศตนและได้ทำให้แผนการของพระองค์สำเร็จไปในชีวิตของพวกเขาคือ คุณพ่อโกราโด
ชิเชรี และคุณพ่ออเล็กซานโดร บอร์ดีญอง แบบอย่างชีวิตและคำภาวนาของท่านทั้งสอง
จะเป็นความบรรเทาและพลังค้ำจุนสำหรับเราทุกคน
สำหรับคณะปีเมในประเทศไทยและพระศาสนจักรไทย |
|
|
|
|
บันทึกเมื่อ ปี ค.ศ.2007 / พ.ศ.2550
ในหนังสือ “ดวงใจพ่อ”
จัดพิมพ์และเผยแพร่โดย ศูนย์คาทอลิกพระจิตเจ้า แม่สรวย เชียงราย
|
|
|
|